พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๓)
พระราชประวัติรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประสูติ พ.ศ. 2330 ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2367 - พ.ศ. 2394)
มีพระนามเดิมว่า พระองค์ชายทับ
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุราลัย ( เจ้าจอมมารดาเรียม ) ประสูติ ณ วันจันทร์ เดือน 4 แรม 10 คํ่า ปีมะแม ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2330 มีพระนามเดิมว่า "พระองค์ชายทับ"
พ.ศ. 2365 พระองค์ชายทับ ได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กํากับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตํารวจว่าการฎีกา นอกจากนี้ยังได้ทรงรับพระกรุณาให้แต่งสําเภาหลวงออกไปค้าขาย ณ เมืองจีน พระองค์ทรงได้รับพระสามัญญานามว่า "เจ้าสัว"
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชการที่ 2 ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต โดยมิได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสองค์ใด พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาเสนาบดีผู้เป็นประทานในราชการจึงปรึกษากัน เห็นควรถวายราชสมบัติแก่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ อันที่จริงแล้วราชสมบัติควรตกแก่ เจ้าฟ้ามงกุฎ ( พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ) เพราะเจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นราชโอรสที่ประสูติจากสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 โดยตรง ส่วนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นเพียงราชโอรสที่เกิดจากเจ้าจอมเท่านั้น โดยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งพระราชหฤทัยไว้แล้วว่าเมื่อสิ้นรัชกาลพระองค์แล้วจะคืนราชสมบัติ ให้แก่สมเด็จพระอนุชา ( เจ้าฟ้ามงกุฎ) ดังนั้นพระองค์จึงไม่ทรงสถาปนาพระบรมราชินี คงมีแต่เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ขึ้น 7 คํ่า เดือน 9 ปีวอกฉศก
พระราชกรณียกิจสำคัญในรัชกาลที่ ๓
ด้านการปกครอง
ลักษณะการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงเป็นแบบอย่างที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยาและกรุงธนบุรี คือ การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของการปกรองประเทศ ทรงเป็นประมุขผู้พระราชทานความพิทักษ์รักษาบ้านเมืองให้ปลอดภัยตำแหน่งรองลงมา คือพระมหาอุปราช ซึ่งดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกับในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตำแหน่งบังคับบัญชาในด้านการปกครองแยกต่อมา คืออัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร คือ พระสมุหพระกลาโหม และฝ่ายพลเรือน คือ สมุหนายก ตำแหน่งรองลงมา เรียก เสนาบดีจตุสดมภ์ คือ เสนาบดีเมืองหรือเวียง กรมวัง กรมพระคลัง และกรมนา
ส่วนการบริหารราชการแผ่นดิน ยังคงจัดแบ่งออกเป็นหัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองชั้นใน และหัวเมืองประเทศราช ดังที่เคยปกครองกันมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการแบ่งการปกครองในลักษณะนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการปกครองหัวเมืองประเทศราช เช่น ลาว เขมร และมลายู เพราะหัวเมืองเหล่านี้พยายามหาทางเป็นเอกราช หลุดจากอำนาจของอาณาจักรไทย
ด้านการทำนุบำรุงประเทศ
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เน้นหลักไปในด้านการก่อสร้างบ้านเมือง ตลอดจนการขุดลอกคูคลอง สร้างป้อม สร้างเมือง ฯลฯ เพราะอยู่ในระยะการสร้างราชธานีใหม่ และพระมหากษัตริย์ในสามรัชกาลแรกทรงยึดถือนโยบายร่วมกันในอันที่จะสร้างบ้านเมืองให้ใหญ่โตสง่างามเทียบเท่ากับกรุงศรีอยุธยา นับตั้งแต่การสร้างพระบรมมหาราชวัง วัดวาอารามต่าง ๆ เป็นต้น
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัตถุสถานต่าง ๆ ที่สร้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ อาทิ พระบรม มหาราชวัง และวัดวาอารามต่าง ๆ และยังทรงเป็นพระธุระในการขุดแต่งคลองเพิ่มเติม คือ คลองสุนัขหอน คลองบางขุนเทียน คลองพระโขนง และคลองแสนแสบ (คลองบางขนาก)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น